Posts

AHA กับ BHA แตกต่างกันอย่างไร

AHA กับ BHA แตกต่างกันอย่างไร ควรใช้อย่างไรให้เหมาะกับคนเป็นสิว

หมอเชื่อว่าหลายคนคงคุ้นเคยกับสารบำรุงผิวหน้าที่ชื่อ AHA BHA มาไม่มากก็น้อย แต่อาจจะไม่แน่ใจว่ามันคือสารอะไร แล้วสารทั้งสองชนิดนี้ช่วยในเรื่องอะไร ซึ่งหมอขอเกริ่นคร่าว ๆ ก่อนว่า ทั้ง AHA และBHA หน้าที่หลักคือ ตัวช่วยในการผลัดเซลล์ผิว ทำให้ผิวหน้ากระจ่างใส เรียบเนียน รวมถึงช่วยป้องกันสิว และรักษาสิวอุดตันได้ 

อย่างไรก็ดี วันนี้หมอจะอธิบายถึง AHA และ BHA อย่างละเอียดว่าสารทั้งสองชนิดนี้คืออะไร เหมาะกับสภาพผิวแบบไหน มีคุณสมบัติอะไรบ้าง ผลข้างเคียงหลังใช้เป็นอย่างไร รวมถึงคำแนะนำการเลือกใช้ AHA และ BHA ที่ถูกวิธี หากใครที่ต้องการรักษาสิว รักษารอย และดูแลผิวหน้าให้เรียบเนียนกระจ่างใส หมอหวังว่าบทความนี้จะช่วยคุณได้


AHA และ BHA คืออะไร

AHA (Alpha Hydroxy Acid) และ BHA (Beta Hydroxy Acid) คือ สารประกอบมีฤทธิ์เป็นกรด ที่นิยมใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า เช่น โฟมล้างหน้า ครีมรักษาสิว หรือครีมลดเลือนริ้วรอย เป็นต้น ซึ่งไม่ว่าจะเป็น AHA BHA สารประกอบทั้งสองชนิดนี้ก็มีคุณสมบัติหลัก คือ ช่วยปรับสภาพผิวหน้าให้มีค่า PH ที่เหมาะสม ช่วยรักษาสิว ฝ้า จุดด่างดำ และป้องกันสิว ตลอดจนกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิว การสร้างคอลลาเจนให้เกิดเร็วขึ้น เป็นผลให้ผิวหน้าเรียบเนียน ไร้ริ้วรอย รวมถึงยังช่วยปรับผิวหน้าที่หมองคล้ำให้กลายเป็นผิวหน้ากระจ่างใสได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า AHA BHA จะเป็นสารประกอบที่มีฤทธิ์เป็นกรด และออกฤทธิ์เพื่อกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวเหมือนกัน แต่สารประกอบทั้งสองนี้ก็มีคุณสมบัติและกระบวนการทำงานที่ช่วยแก้ไขปัญหาผิวหน้าของเราได้แตกต่างกัน ซึ่งหมอจะอธิบายในหัวข้อถัดไป


AHA และ BHA มีความแตกต่างกันอย่างไร

โดยทั่วไปแล้ว หมอจะเลือกใช้ AHA หรือ BHA ทำทรีตเมนต์ให้แก่ผู้ที่ต้องการมีผิวหน้าเรียบเนียน กระจ่างใส หรือผู้ที่ต้องการรักษาสิว แต่ AHA BHA ก็มีคุณสมบัติปลีกย่อยและกระบวนการทำงานที่ต่างกันเล็กน้อย จึงทำให้เหมาะกับปัญหาสภาพผิวของผู้ใช้ที่แตกต่างกัน หมอขอสรุปความแตกต่างไว้ดังนี้

AHA

สำหรับ AHA เป็นสารประกอบที่อยู่ในสารสกัดจากธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสารสกัดผลที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น กรดซิตริก (Citric Acid) จากผลไม้รสเปรี้ยว กรดทาร์ทาริก (Tartaric Acid) จากองุ่น กรดมาลิก (Malic Acid) จากแอปเปิ้ล กรดไกลโคลิก (Glycolic Acid) จากอ้อย หรือกรดแลคติก (Lactic Acid) จากนมเปรี้ยว เป็นต้น

การทำงานของ AHA จะออกฤทธิ์กระตุ้นให้เกิดการผลัดเซลล์ผิวชั้นนอก หรือชั้นผิวหนังกำพร้า ทำให้เซลล์ผิวเก่าที่ตายแล้วหลุดออกจากผิวหน้ากระตุ้นให้เกิดการสร้างเซลล์ผิวใหม่ขึ้นมาแทนที่ กระตุ้นให้เกิดการสร้างคอลลาเจนใต้ผิวหนังด้วย ทำให้ช่วยลดเลือนริ้วรอย ส่งผลให้ผิวหน้าเรียบเนียนกระจ่างใส  รอยด่างดำต่างๆ บนผิวหน้าจางลง 

BHA

ส่วน BHA เป็นสารประกอบกรดที่ได้จากสารสกัดเปลือกต้นหลิวจีน (Willow) ซึ่งเป็นสารสกัดที่มีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบของผิวหน้า ทั้งนี้ BHA เป็นสารประกอบที่ละลายได้ดีในไขมัน ดังนั้น BHA จึงนำมาใช้ควบคุมความมัน ใช้เป็นสารประกอบที่ป้องกันสิวอุดตัน 

การทำงานของ BHA จะออกฤทธิ์คล้าย ๆ กับ AHA คือ กระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวเก่าที่ตายแล้ว และสร้างเซลล์ผิวใหม่ขึ้นมา กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนด้วยเช่นกัน เพียงแต่คุณสมบัติของ BHA สามารถละลายในน้ำมันได้ดี และสามารถลดอาการอักเสบบนผิวหนังได้ 

ความแตกต่างระหว่าง AHA และ BHA

AHA เหมาะกับผิวแบบใด และควรใช้อย่างไร

ดังที่หมอกล่าวไว้ในหัวข้อที่แล้วว่า AHA เหมาะกับการรักษารอยสิวและปรับสีผิวให้สม่ำเสมอ เพื่อลดเลือนจุดด่างดำ อีกทั้งยังมีคุณสมบัติละลายน้ำได้ดี ทำให้ AHA เหมาะกับบุคคลต่อไปนี้

  1. ผู้ที่มีผิวแห้ง
  2. ผู้ที่มีสีผิวไม่สม่ำเสมอ
  3. ผู้ที่ผิวได้รับความเสียหายจากแสงแดด
  4. ผู้ที่มีจุดด่างดำ ฝ้า กระ รอยสิว และรอยแผลเป็นบนผิวหน้า
  5. ผู้ที่มีรูขุมขนกว้าง และมีริ้วรอยขนาดเล็ก

BHA เหมาะกับผิวแบบใด และควรใช้อย่างไร

สำหรับ BHA มีคุณสมบัติสลายตัวได้ดีในไขมันหรือน้ำมัน และยังสามารถช่วยลดการอักเสบได้ ดังนั้น ผิวหน้าที่เหมาะกับการใช้ BHA ได้แก่

  1. ผู้ที่มีผิวหน้ามัน
  2. ผู้ที่มีปัญหาสิวอุดตัน 
  3. ผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย หรือผู้ที่มีผิวหน้าเป็นสิวง่าย
  4. ผู้ที่มีรูขุมขนกว้าง และริ้วรอยลึก

จะเห็นว่าทั้ง AHA และ BHA เหมาะกับสภาพผิวที่แตกต่างกัน ดังนั้น หมอแนะนำว่าควรเลือกใช้ให้เหมาะกับสภาพผิวของตนเอง เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาผิวหน้า


AHA และ BHA มีคุณสมบัติช่วยอะไรบ้าง

คุณสมบัติของ AHA BHA คือ ช่วยกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวชั้นนอก ปรับสภาพให้ผิวหน้าเรียบเนียนกระจ่างใส ไร้สิว ฝ้า จุดด่างดำ รักษารอยสิว อีกทั้งยังช่วยให้สีผิวสม่ำเสมอ อย่างไรก็ดี ทั้ง AHA และ BHA ก็จะมีคุณสมบัติปลีกย่อยที่ต่างกัน โดยหมอได้สรุปคุณสมบัติของ AHA BHA ไว้ดังนี้

AHA

เนื่องจากคุณสมบัติของ AHA จะลายลายดีในน้ำ ทำให้ซึมลงชั้นผิวหนังได้ไม่ลึกมาก แต่มีประสิทธิภาพในเรื่องดังต่อไปนี้

  • ช่วยลดเลือนริ้วรอย เนื่องจาก AHA กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในชั้นผิวหนังแท้ ทำให้สามารถซ่อมแซมผิวหนังที่เกิดความหย่อนคล้อยและริ้วรอยได้
  • ช่วยผลัดเซลล์ผิว เนื่องจาก AHA มีประสิทธิภาพในการผลัดเซลล์ผิวชั้นนอกที่ตายแล้ว และกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่ขึ้นมาทดแทน ทำให้ผิวหน้ากระจ่างใส เพราะได้รับการซ่อมแซมอยู่เสมอ
  • เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหน้า เนื่องจาก AHA ที่ได้จากกรดมาลิกในแอปเปิล ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหน้า อีกทั้งยังปรับค่า PH บนผิวหน้าให้สมดุล จึงทำให้ผิวหน้าไม่แห้งกร้านจนเกินไป 
  • ช่วยป้องกันสิว AHA ช่วยปรับค่า PH บนผิวหน้าให้สมดุล โดยปรับให้อยู่ที่ประมาณ 4.5-5.5 ซึ่งเป็นค่าที่ผิวสุขภาพดีควรมี ทำให้ลดการเกิดสิวได้
  • ลดเลือนจุดด่างดำ เพราะ AHA ช่วยกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วให้หลุดออกไป ทำให้ผิวหน้าที่เคยมีรอยสิวหรือจุดด่างดำดูจางลง ทั้งนี้ AHA ยังช่วยสร้างเซลล์ผิวใหม่ขึ้นมาแทนที่ด้วย จึงทำให้ผิวหน้ากระจ่างใสและผิวหน้าเรียบเนียนอยู่เสมอ

BHA

สำหรับคุณสมบัติของ BHA จะละลายในไขมันหรือน้ำมันได้ดี จึงสามารถแทรกซึมลงไปยังรูขุมขนและต่อมไขมันได้ ซึ่งคุณสมบัติของ BHA มีดังนี้

  • ควบคุมความมันบนใบหน้า เนื่องจาก BHA ละลายได้ดีในไขมัน และสามารถซึมลึกลงไปยังรูขุมขนและต่อมไขมันได้ จึงสามารถควบคุมการหลั่งของน้ำมันบนผิวหน้า ทำให้ปัญหาหน้ามันลดลง
  • ลดอาการอักเสบบนผิวหน้า BHA จากสารสกัดเปลือกต้นหลิวจีน สามารถช่วยลดการอักเสบของสิว ทำให้สิวยุบตัวเร็วขึ้นได้
  • ช่วยลดเลือนริ้วรอยลึก นอกจากช่วยผลัดเซลล์ผิวแล้ว BHA ยังช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในชั้นผิวหนังแท้ ส่งผลให้ผิวหน้าได้ซ่อมแซมริ้วรอยความเหี่ยวย่นที่เกิดขึ้น
  • ช่วยรักษาสิว เมื่อมีการผลัดเซลล์ผิว สิ่งสกปรกที่อุดตันในรูขุมขนจะหลุดออกไป ทำให้ลดการสะสมของสิวหัวตัน ทั้งยังช่วยละลายหัวสิวอุดตัน ทำให้สิวยุบตัวเร็วขึ้น
  • ทำความสะอาดรูขุมขนได้ดี เพราะ BHA แทรกซึมลงในรูขุมขนระดับลึก จึงกำจัดสิ่งอุดตันให้หลุดออกไปได้อย่างหมดจด ทำให้รูขุมขนสะอาดและป้องกันสิวอุดตันได้ดี
AHA และ BHA มีคุณสมบัติช่วยอะไรบ้าง

AHA และ BHA ใช้ด้วยกันได้ไหม

ตามปกติแล้ว หมอจะไม่แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าที่มีส่วนผสมของ AHA BHA พร้อมกัน เนื่องจากทั้ง AHA และ BHA ทำหน้าที่ผลัดเซลล์ผิวหนังชั้นนอกเหมือนกันและมีฤทธิ์เป็นกรด หากใช้พร้อมกัน จะทำให้ผิวหน้าแห้งจนเกินไป และเกิดการหลุดลอกได้ 

ดังนั้น ถ้าต้องการดูแลให้ผิวหน้าเรียบเนียนกระจ่างใส ไปพร้อมกับการป้องกันสิว หรือรักษาสิวอุดตัน หมอแนะนำว่าควรใช้ AHA และ BHA สลับวันกัน หรือจะใช้ AHA ในตอนเช้า และใช้ BHA ก่อนนอนก็ได้ อย่างไรก็ตาม AHA BHA จะทำงานได้ดีในเวลากลางคืนมากกว่าตอนกลางวัน

อย่างไรก็ดี บางเคสที่มีปัญหาผิวหน้ามันมากและเป็นสิวง่าย AHA BHA สามารถใช้ร่วมกันได้ ในกรณีที่แพทย์คำนวณปริมาณความเข้มข้นของทั้งสองชนิดมาแล้วว่า เหมาะสมกับปัญหาผิวหน้าของเคสนั้นๆ ดังนั้น การใช้ AHA ร่วมกับ BHA ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ


ผลข้างเคียงของการใช้ AHA และ BHA 

การใช้ AHA BHA ในปริมาณที่เหมาะสม มักจะไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง เพียงแต่สารประกอบทั้งสองชนิดมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ หมอจึงแนะนำให้ใช้อย่างระมัดระวัง โดยผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นหากใช้ในปริมาณมาก หรือใช้ AHA ร่วมกับ BHA ในสัดส่วนที่ไม่เหมาะสม มีดังต่อไปนี้

  • หากใช้ทั้ง AHA BHA ในปริมาณมาก อาจทำให้ผิวหน้าระคายเคืองและเกิดผื่นแดง ในกรณีร้ายแรงอาจทำให้ผิวหน้าหลุดลอกและเสียหายได้
  • การใช้ AHA อาจกระตุ้นให้เกิดสิวขึ้นเยอะกว่าเดิมได้ ซึ่งผลข้างเคียงนี้จะขึ้นอยู่กับอาการแพ้และสภาพผิวหน้าของแต่ละคน
  • การใช้ AHA และ BHA จะทำให้ผิวไวต่อแสง ดังนั้น ควรทาครีมกันแดดร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม หากใช้สารประกอบทั้งสองชนิดในปริมาณมากเกินไป อาจทำให้ผิวเกิดอาการระคายเคืองและไหม้ได้

AHA และ BHA กับเปอร์เซนต์ความเข้มข้นที่ควรใช้

เนื่องจาก AHA BHA มีฤทธิ์เป็นกรด ดังนั้นหมอแนะนำให้เลือกใช้ความเข้มข้นในปริมาณที่เหมาะสมกับปัญหาผิวหน้า โดยสูตรของทั้ง AHA และ BHA ในเครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์บำรุงหน้ามีให้เราเลือกใช้หลากหลาย แต่โดยทั่วไปที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนด มีดังนี้ 

  • ควรใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าที่มี AHA ความเข้มข้นไม่เกิน 10% เพื่อไม่ให้เกิดการระคายเคืองบนผิวหน้า  โดยอาจจะเริ่มต้นที่ 2% 5% ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องใช้ AHA ความเข้มข้นเกิน 10% เพื่อปรับสภาพผิวและรักษารอยสิว ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 
  • ส่วนการใช้ BHA บำรุงผิวหน้าและป้องกันสิว หมอแนะนำว่าไม่ควรมีความเข้มขึ้นเกินกว่า 3% เนื่องจากถ้าใช้ BHA ที่มีความเข้มข้นสูงติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ผิวไวต่อแสงและเกิดการระคายเคืองและแสบไหม้ได้
  • ในกรณีที่ต้องการรักษาสิวอุดตันด้วยการผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมี (Chemical Peel) จะใช้ BHA ความเข้มขั้นที่ 10-20% แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

อย่างไรก็ดี หมอไม่แนะนำให้ใช้ AHA BHA กับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกลุ่มสารบางชนิด เนื่องจากเป็นสารที่ช่วยกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวเหมือนกัน อาจทำให้ผิวระคายเคือง แห้ง และหลุดลอกได้ ซึ่งกลุ่มสารที่ไม่ควรใช้กับ AHA และ BHA ได้แก่

  • เรตินอล (Retinol)
  • เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide)
  • อนุพัน์วิตามินดี (Calcipotriol)
  • แอลกอฮอล์
  • ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าที่มีส่วนประกอบของสารเคมีรุนแรง หรือมีคุณสมบัติผลัดเซลล์ผิว 

BHA ความเข้มข้น 3% กับการผลัดเซลล์ผิวในคนที่เป็นสิวง่าย

สำหรับคนที่มีผิวแพ้ง่ายหรือเกิดสิวง่าย หมอแนะนำว่าให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ BHA ความเข้มข้น 3% เนื่องจาก BHA ที่ความเข้มข้น 3% จะมีค่า PH ที่เหมาะกับสภาพผิวแพ้ง่าย อ่อนโยน และเป็นมิตรต่อผิวหน้า แต่มีประสิทธิภาพที่ซึมลงไปยังรูขุมขนในระดับลึก ทำให้แก้ปัญหาหน้ามันได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งช่วยสลายหัวสิวอุดตัน ทำให้สิวยุบตัวได้เร็ว BHA ความเข้มข้น 3% จึงเหมาะอย่างมากสำหรับผู้ที่ต้องการรักษาสิวอุดตัน นอกจากนี้ BHA ความเข้มข้น 3% ยังช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนขึ้นใหม่ ทำให้ริ้วรอยและความหย่อนคล้อยแลดูจางลงด้วย

ส่วนใครที่ต้องการรักษาสิวและต้องการลดเลือนริ้วรอยด้วยการทำทรีตเมนต์ BHA ทางคลินิกของหมอ มีสูตรการรักษาสิวและปรับสีผิวหน้าให้สม่ำเสมอด้วย BHA ความเข้มข้น 3% ที่ครอบคลุมในเรื่องการรักษาสิว การป้องกันสิว การลดเลือนจุดด่างดำ และลดเลือนริ้วรอย ซึ่งหมอเป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดการรักษา

BHA ความเข้มข้น 3%

ข้อสรุป

AHA BHA เป็นสารประกอบที่มีฤทธิ์เป็นกรด นิยมใช้เพื่อรักษาสิว ปรับสภาพผิวหน้า และป้องกันสิว ผลลัพธ์ที่ได้จึงช่วยให้ผิวหน้าเรียบเนียนกระจ่างใส ไร้ความหมองคล้ำ 

อย่างไรก็ตาม หากต้องการทำทรีตเมนต์ด้วย AHA BHA หมอจะคำนวณความเข้มข้นที่เหมาะสมกับปัญหาผิวหน้าของเคสนั้นๆ และจะไม่ใช้ในปริมาณมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้ระคายเคืองผิวได้ ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับใช้ AHA และ รักษาสิว สามารถแอดไลน์ @ayaclinic หรือโทรศัพท์ 090-970-0447 เพื่อพูดคุยกับหมอได้โดยตรง

อ่านรีวิวเคสรักษาสิวเพิ่มเติม คลิก


รีวิวการรักษาสิว
รีวิวรักษาสิว
เพิ่มเพื่อนไลน์