หลุมสิวเกิดจากอะไร? วิธีรักษาหลุมสิวให้หายขาด พร้อมเคล็ดลับดูแลผิวด้วยตัวเอง
หลุมสิว เป็นปัญหาผิวที่สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งการรักษาสิวที่ไม่ถูกวิธี การกดสิวแรง ๆ หรือแม้แต่การเป็นสิวอักเสบที่รุนแรง ก็ทำให้เกิดหลุมสิวหลังจากสิวหายได้ ซึ่งส่งผลต่อความมั่นใจและบุคลิกภาพของใครหลายคนเป็นอย่างมาก
บทความนี้จะพาคุณไปไขข้อสงสัยเกี่ยวกับหลุมสิว ว่าคืออะไร? มีลักษณะแบบไหน? เกิดจากอะไร? พร้อมวิธีการรักษาหลุมสิวให้หายขาด และเคล็ดลับดูแลผิวด้วยตัวเองหลังจากการรักษาหลุมสิวอย่างเหมาะสม
หลุมสิวคืออะไร? ลักษณะอย่างไร
หลุมสิว เกิดจากกระบวนการอักเสบของสิวที่ทำลายเนื้อเยื่อผิวหนัง จนทำให้เกิดความเสียหายลึกลงไปในชั้นผิว เมื่อการอักเสบหายไป ผิวจะไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ จึงทำให้เกิดรอยบุ๋มหรือหลุมสิวขึ้น ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็นหลายประเภท ได้แก่
- Rolling scar : หลุมสิวที่มีลักษณะเป็นคลื่นๆ มีขอบไม่ชัดเจน สัมผัสได้ถึงความไม่เรียบของผิว
- Boxcar scar : เป็นหลุมกว้าง มีขอบชัดเจนคล้ายลักษณะกล่อง เป็นแผลบุ๋ม ก้นแผลเรียบ ขอบชัดเจน
- Icepick scar : เป็นหลุมเล็กและลึก แคบ ก้นแหลม คล้ายเข็มจิ้ม
- Hypertrophic scar : เป็นหลุมสิวที่มีลักษณะเป็นรอยแผลเป็นนูนแข็งกว่าผิว รอยมีสีแดง เกิดจากแผลเป็นคีลอยด์
หลุมสิวบนใบหน้าเกิดจากอะไร?
ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดหลุมสิวบนใบหน้านั้นมีอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน ตั้งแต่ปัจจัยภายในไปจนถึงปัจจัยภายนอกที่เราเองก็อาจจะมองข้ามไป ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้หลุมสิวเกิดขึ้น เรามาสาเหตุของหลุมสิวกันก่อนเลย
สิวอักเสบที่รุนแรง
สิวอักเสบที่มีขนาดใหญ่ อาจมีความรุนแรงจนทำลายเนื้อเยื่อผิวรอบข้างได้ เมื่อสิวหายแล้ว ร่างกายจะไม่สามารถซ่อมแซมผิวหนังกลับคืนเองได้อย่างสมบูรณ์ จึงทำให้เกิดหลุมสิวได้
การบีบสิวหรือกดสิวที่ไม่ถูกวิธี
การบีบหรือกดสิวโดยใช้นิ้วหรืออุปกรณ์ที่ไม่สะอาดและกดแบบผิดวิธี จะเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อและทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น ส่งผลให้เกิดหลุมสิวตามมา
การดูแลผิวที่ไม่เหมาะสมหลังสิวหาย
หลังสิวหายแล้ว หากไม่ดูแลผิวหน้าอย่างเหมาะสม เช่น การไม่ใช้ครีมบำรุงหรือครีมกันแดด จะทำให้ผิวฟื้นฟูได้ไม่เต็มที่ และมีความเสี่ยงต่อการเกิดหลุมสิวสูงมาก
การรักษาสิวที่ไม่ถูกวิธี
การรักษาสิวแบบผิดวิธี เช่น การใช้ยารักษาสิวที่ไม่เหมาะสม การสครับผิวหน้าในขณะที่ผิวเป็นสิวอยู่ หรือไม่รักษาสิวอักเสบอย่างถูกต้อง ก็จะทำให้เกิดรอยแผลเป็นและหลุมสิวตามมา
พันธุกรรม
ในบางกรณี การเกิดหลุมสิวอาจมีปัจจัยทางพันธุกรรมมาร่วมด้วย เช่น หากมีสมาชิกในครอบครัวที่มีปัญหาหลุมสิวมาก่อน ก็มีเปอร์เซนต์สูงมากที่ลูกหลานหรือญาติจะเป็นหลุมสิวได้ด้วยเช่นกัน
การอักเสบของผิวหนัง
ปัญหาผิวหนังอักเสบ เช่น โรคผิวหนังหรือการติดเชื้ออื่นๆ นอกจากสิว อาจทำให้เนื้อเยื่อผิวถูกทำลาย ส่งผลให้เกิดหลุมสิวในบริเวณที่อักเสบได้ง่ายขึ้น
วิธีรักษาหลุมสิวที่ได้ผล
หากพูดถึงการรักษาหลุมสิวที่ได้ผลอย่างแน่นอนก็คงหนีไม่พ้นการทำหัตถการ หรือการพึ่งเทคนิคทางการแพทย์ ที่จะให้ผลลัพธ์อย่างชัดเจนและรวดเร็วที่สุด ซึ่งเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยรักษาหลุมสิวอย่างเห็นผล มีอยู่ด้วยกันดังนี้
การทำเลเซอร์
การทำเลเซอร์หลุมสิวเป็นวิธีที่นิยมมากในการรักษาหลุมสิวในปัจจุบัน โดยเลเซอร์จะทำลายชั้นผิวเก่าที่มีหลุมสิวและกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนขึ้นมาใหม่ ซึ่งช่วยฟื้นฟูผิวให้เรียบเนียนขึ้น โดยการทำเลเซอร์หลุมสิวมีหลายประเภท เช่น Fractional Laser, CO2 Laser ที่สามารถปรับตามความลึกหรือความรุนแรงของหลุมสิวได้
การทำ Microneedling
Microneedling หรือ Dermaroller เป็นการใช้เข็มขนาดเล็กทิ่มลงไปในผิวหน้าเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างคอลลาเจนและซ่อมแซมเนื้อเยื่อ วิธีนี้ช่วยให้ผิวที่เป็นหลุมฟื้นฟูเร็วขึ้น ผิวเรียบเนียน เหมาะสำหรับหลุมสิวที่มีขนาดเล็กไปจนถึงปานกลาง ยิ่งไปกว่านั้น Microneedling ยังช่วยให้รูขุมขนกระชับ ผิวพรรณดูสดใสและอ่อนเยาว์ขึ้นอีกด้วย
การฉีดฟิลเลอร์
การฉีดฟิลเลอร์เป็นการเติมเต็มหลุมสิวด้วยสารที่ช่วยยกกระชับผิว หรือที่เรียกว่ากรดไฮยาลูโรนิก (Hyaluronic Acid) หลังฉีดจะทำให้หลุมสิวดูตื้นขึ้นในทันที ฟิลเลอร์จะช่วยเติมเต็มพื้นที่ที่ขาดหายไปของผิว โดยผลลัพธ์จะอยู่ได้นานหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับชนิดหรือยี่ห้อของฟิลเลอร์ที่ใช้
การทำ Subcision
Subcision เป็นวิธีการใช้เข็มที่มีขนาดเล็ก ปลายเข็มจะมีลักษณะคล้ายมีด ซึ่งมีชื่อเรียกว่า Nokor Needle เพื่อเลาะพังผืดบริเวณหลุมสิวให้หลุดออกไป วิธีนี้จะเป็นการกระตุ้นให้ผิวหน้ามีอาการบาดเจ็บแล้วเกิดการรักษาตัวเองขึ้น จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่เคยผ่านการรักษาหลุมสิวมาก่อน หรือรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่เห็นผล
การผ่าตัด
สำหรับใครที่มีหลุมสิวที่ลึกมาก เช่น Ice pix scar หรือ Boxcar scar รวมไปถึงผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แพทย์อาจพิจารณาวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดเล็ก ขนาดประมาณ 2-3 มิลลิเมตร โดยแพทย์จะทำการผ่าแล้วดึงผิวที่ไม่มีปัญหามาเย็บติดกัน หลังจากนั้นแพทย์จะนัดตัดไหมภายใน 1 สัปดาห์หลังจากการผ่าตัด โดยผลลัพธ์จะเห็นผลได้ชัดเจนทันที แต่อาจจะมีผลข้างเคียงหรือต้องมีการดูแลมากกว่าวิธีการรักษาแบบอื่นๆ
รักษาหลุมสิวด้วยตัวเองได้หรือไม่?
การรักษาหลุมสิวด้วยตัวเองนั้นสามารถทำได้ แต่จะต้องเป็นหลุมสิวที่ไม่ลึกหรือไม่รุนแรงมาก อย่างไรก็ตาม การรักษาหลุมสิวด้วยตัวเองก็สามารถช่วยให้หลุมสิวตื้นขึ้นและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาผิวอื่น ๆ ตามมาได้
การใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนผสมกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน
การใช้ครีมบำรุงหรือเซรั่มที่มีส่วนผสมของสารกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน เช่น วิตามินซี, เปปไทด์ หรือเรตินอล จะช่วยให้ผิวฟื้นฟูตัวเองได้เร็วขึ้นและหลุมสิวดูตื้นขึ้น แต่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีในระยะยาว
การใช้ AHA และ BHA ผลัดเซลล์ผิว
AHA (Alpha Hydroxy Acids) และ BHA (Beta Hydroxy Acids) เป็นสารที่ช่วยผลัดเซลล์ผิวอย่างอ่อนโยน AHA เหมาะกับการผลัดเซลล์ผิวชั้นนอก ช่วยลดเลือนหลุมสิวตื้น ๆ และเพิ่มความกระจ่างใส ส่วน BHA สามารถซึมลึกลงไปในรูขุมขน ช่วยลดการอุดตันและลดการอักเสบของสิว ซึ่งการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมเหล่านี้อย่างต่อเนื่องจะช่วยปรับผิวหน้าให้เรียบเนียนขึ้นได้
การทำมาสก์หน้าหรือการสครับผิว
การมาสก์หน้าหรือการสครับผิวเป็นวิธีช่วยกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวใหม่ ทำให้ผิวที่มีหลุมสิวดูตื้นขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนและไม่ทำร้ายผิวมากเกินไป เม็ดสครับต้องละเอียด และไม่ควรสครับผิวบ่อยเกินไป เพราะอาจทำให้ผิวอักเสบได้ รวมถึงควรมาสก์หน้าด้วยส่วนผสมที่ช่วยให้ผิวชุ่มชื้น เช่น มาสก์ที่มีส่วนผสมของว่านหางจระเข้ หรือมาสก์โคลน
ข้อดีและข้อเสียของการรักษาหลุมสิวด้วยตัวเอง
ข้อดีของการรักษาหลุมสิวด้วยตัวเอง
- ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับการทำเลเซอร์หลุมสิวหรือการรักษาโดยแพทย์ผิวหนัง เพราะสามารถใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป
- สามารถทำได้ทุกวันโดยไม่ต้องรอคิวหรือนัดหมายแพทย์ และสามารถปรับเปลี่ยนการดูแลให้เหมาะสมกับสภาพผิวได้เอง
- ช่วยเพิ่มการบำรุงและการฟื้นฟูผิว เนื่องจากผลิตภัณฑ์บางชนิด เช่น ครีมบำรุงที่มีส่วนผสมของเรตินอล วิตามินซี และเปปไทด์ จะช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและช่วยฟื้นฟูสภาพผิวให้ดีขึ้น
- การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มี AHA, BHA หรือเรตินอล นอกจากจะช่วยลดหลุมสิวแล้ว ยังช่วยผลัดเซลล์ผิวเก่า ลดการอุดตันของรูขุมขน และลดโอกาสการเกิดสิวใหม่ได้
ข้อเสียของการรักษาหลุมสิวด้วยตัวเอง
- ผลลัพธ์อาจไม่ชัดเจนเท่ากับการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ เช่น เลเซอร์หลุมสิวหรือ Subcision โดยเฉพาะในกรณีที่หลุมสิวค่อนข้างลึก
- ช่วยได้เฉพาะกับหลุมสิวตื้นหรือรอยแผลเป็นเล็ก ๆ เท่านั้น
- อาจใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสมกับสภาพผิว เช่น การใช้สครับที่รุนแรงหรือผลิตภัณฑ์ผลัดเซลล์ผิวที่มีกรดเข้มข้นมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้ผิวหน้าอักเสบหรือระคายเคืองมากขึ้น
- ใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล ต้องอาศัยความอดทน
- ต้องมีความสม่ำเสมอ หากหยุดใช้ผลิตภัณฑ์หรือดูแลผิวไม่ต่อเนื่อง อาจทำให้ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงหรือผลลัพธ์ที่ต้องการ
การดูแลตัวเองหลังรักษาหลุมสิว
หลีกเลี่ยงแสงแดดและใช้ครีมกันแดดทุกวัน
หลังจากการรักษาหลุมสิว ผิวจะมีความไวต่อแสงมากขึ้น ดังนั้นการหลีกเลี่ยงแสงแดดจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะรังสี UV สามารถทำร้ายผิวและทำให้รอยหลุมสิวหรือแผลเป็นเห็นชัดขึ้น ควรใช้ครีมกันแดดที่มี SPF สูง (SPF 30 ขึ้นไป) และทาซ้ำทุก 2-3 ชั่วโมงเมื่อต้องอยู่กลางแจ้งเพื่อปกป้องผิว
บำรุงผิวด้วยมอยเจอร์ไรเซอร์
หลังการรักษาหลุมสิว ผิวอาจเกิดการแห้งหรือลอกได้ ควรใช้มอยเจอร์ไรเซอร์ทาที่ผิวหน้าเป็นประจำทุกวันเพื่อช่วยให้ผิวชุ่มชื้น ลดการอักเสบ และยังช่วยลดอาการระคายเคืองได้ดีอีกด้วย
หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีรุนแรง
หลังการรักษา ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีรุนแรง เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีกรดเข้มข้นสูงหรือสารที่อาจทำให้ผิวระคายเคืองง่าย เช่น สารพาราเบน แอลกอฮอล์ และน้ำหอม เพราะผิวจะบอบบางมากหลังการรักษาหลุมสิว การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดการระคายเคืองและแพ้ได้
ข้อสรุป
ปัญหาหลุมสิวสามารถแก้ได้ หากเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม หากสังเกตตนเองว่าเริ่มมีรอยเล็ก ๆ บนใบหน้าหลังสิวหาย สามารถเริ่มต้นดูแลรักษาผิวหน้าได้ด้วยตนเอง แต่ถ้าหากใครที่มีปัญหานี้มานาน แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผิวหนังโดยตรงเพื่อให้แพทย์พิจารณาปัญหา และเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป